เพราะการส่งออกสินค้าในแต่ละคราวมักมีการขนส่งเป็นจำนวนมากในแต่ละคราว ทั้งนี้เพราะการส่งออกในแต่ละครั้งย่อมมีค่าใช้จ่ายและค่าเสี่ยงภัยต่างๆ ที่ตามมามากกว่าการขายสินค้าในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหลายย่อมทราบปัญหาข้อนี้ดี แต่ก็ยอมก้าวเข้าสู่การบริหารการส่งออกสินค้าเพื่อเป็นการบุกตลาดสินค้าของตนให้ขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นการชำระเงินค่าสินค้าในการส่งออกไปยังต่างประเทศก็ย่อมมีจำนวนสูงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหลายก็ยังมีตัวช่วยในเรื่องการชำระเงิน ที่สามารถเลือกให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองด้วย มีเทคนิคอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย
เทคนิคเลือกชำระเงินที่ไม่กระทบต่อการบริหารธุรกิจส่งออก
สามารถแบ่งการชำระเงินออกเป็น 4 วิธีหลักๆ ได้ดังนี้
1.การชำระเงินล่วงหน้า (Advance Payment) วิธีนี้เป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยการให้ผู้ซื้อชำระเงินล่วงหน้าก่อน จากนั้นผู้ขายจึงจะจัดส่งสินค้าตามสเป็กที่ตกลงกันไปยังผู้ซื้อ ซึ่งการชำระเงินรูปแบบนี้จะเห็นว่าภาระไปตกอยู่ที่ฝ่ายผู้ซื้อ เพราะต้องแบกรับภาระในเรื่องคุณสมบัติของสินค้าที่อาจได้ไม่ตรงตามสเป็กที่ต้องการได้ ดังนั้นธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ จึงนิยมให้ผู้ขายทำหนังสือค้ำประกัน (Advance Payment Standby / Guarantee) เพื่อเป็นการการันตีในคุณสมบัติของสินค้าส่งออกนั่นเอง ซึ่งวิธีการชำระเงินแบบนี้เหมาะกับธุรกิจที่ส่งออกไม่มากนัก และผู้ซื้อยินยอมรับความเสี่ยงนั้นๆ
2.การเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open Account) วิธีนี้เป็นวิธีตรงกันข้ามกับข้อแรก โดยเป็นการตกลงให้ผู้ขายจัดส่งสินค้าตามสเป็กที่ผู้ซื้อเรียกร้อง ไปยังผู้ซื้อปลายทางเสียก่อน โดยผู้ขายจะจัดทำเอกสารการส่งออกสินค้า และทำข้อตกลงกันว่าจะมีการชำระเงินค่าสินค้าเมื่อใด และอย่างไร ซึ่งวิธีการนี้ผู้ขายจะต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ชำระค่าสินค้านั้นๆ ได้ ดังนั้นผู้ขายจึงนิยมให้ผู้ซื้อทำหนังสือค้ำประกัน (Commercial Standby / Guarantee) ให้ไว้ เพื่อสามารถนำไปฟ้องร้องให้รับผิดได้ภายหลัง วิธีการชำระเงินแบบนี้มักจะเหมาะกับธุรกิจ SME ที่ไม่ใหญ่มากนัก และยังเป็นคู่ค้าที่สามารต่อรองกันได้ง่ายอีกด้วย
3.การชำระเงินโดยตั๋วเรียกเก็บ (Bill for Collection) ผู้ขายจะส่งสินค้าไปยังปลายทางก่อน แต่ผู้ซื้อจะยังไม่อาจรับสินค้าได้ จนกว่าธนาคารผู้ขายจะแจ้งไปยังธนาคารผู้ซื้อให้มาชำระค่าสินค้า เมื่อผู้ซื้อได้รับเอกสารจากธนาคารแล้วจึงนำไปชำระเงินตามจำนวนหรือรับรองตั๋วแลกเงิน และเมื่อมีการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว จึงติดต่อขอรับสินค้าได้ วิธีการชำระเงินแบบนี้เริ่มขยับความเป็นสากลขึ้นมาบ้าง ดังนั้นจึงเหมาะกับธุรกิจทั่วๆ ไป ตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่นั่นเอง
4.การชำระเงินโดยเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit หรือ L/C) วิธีนี้เป็นการลดความเสี่ยงของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงซึ่งกันและกันเลย โดยผู้ซื้อจะเปิด L/C ผ่านธนาคารของผู้ซื้อไปยังธนาคารของผู้ขายมีการระบุเงื่อนไขต่างๆ ใน L/C จากนั้นผู้ขายจึงจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายส่งสินค้าตามเงื่อนไขก็นำเอกสารการส่งสินค้าและเอกสารตามเงื่อนไข L/C ไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารของผู้ขายได้เลย ผู้ซื้อก็ชำระเงินแล้วธนาคารของผู้ซื้อก็จะมอบเอกสารต่างๆ ให้ผู้ซื้อไปรับสินค้าออกมาได้ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการชำระค่าสินค้าที่เสมอภาคในเรื่องความเสี่ยงทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเลยทีเดียว วิธีการชำระเงินแบบนี้นับว่าเป็นวิธีการชำระแบบสากลที่สุด และมีความปลอดภัยที่สุด ดังนั้นจึงเหมาะกับทุกธุรกิจเลยนั่นเอง
ซึ่งเทคนิคทั้ง 4 ข้อนี้ก็มีข้อดีและข้อด้อยในด้านความเสี่ยงและวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณจึงควรพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณได้ประกอบด้วย เพื่อจะเป็นการลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัวอีกด้วย